อย.เผยอนุญาตปลูกกัญชงไปแล้วกว่า 3 พันไร่ นำเข้าเมล็ดพันธุ์กว่า 900 ล้านบาท

ข่าวสุขภาพ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

 

อย. ส่งเสริมกัญชง ชูเป็นพืชเศรษฐกิจ เผยกระแสตอบรับดีมาก มีผู้ขออนุญาตปลูกเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม ที่ได้รับอนุญาตแล้ว 324 ราย เนื้อที่กว่า 3 พันไร่ และขออนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง 86 ราย มูลค่ากว่า 900 ล้านบาท และคาดว่าจะทยอยขออนุญาตเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ

วันนี้ (15 ต.ค.) นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากพืชกัญชง (Hemp) เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อ วันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนทั้ง เกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาต และนำกัญชงไปใช้ในทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่ การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ และการค้า เพื่อนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ทั้งยา อาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น

ซึ่งหลังจากการปลดล็อคกัญชง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้สนใจต้องการขออนุญาตเป็นจำนวนมาก ทั้งต้นน้ำเพื่อปลูกกัญชง กลางน้ำเพื่อสกัดสารสกัดจากกัญชง และปลายน้ำเพื่อนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขณะนี้มีผู้ขออนุญาตผลิต (ปลูก) เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม โดยได้รับอนุญาตแล้ว 324 ราย เนื้อที่ 3,250 ไร่ และอยู่ในระหว่างออกใบอนุญาต 127 ราย และขออนุญาตเพื่อศึกษาวิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์ ได้รับอนุญาตแล้ว 34 ราย และอยู่ในระหว่างออกใบอนุญาต 11 ราย สำหรับในส่วนของการนำเข้า มีผู้ได้รับอนุญาตนำเข้า เมล็ดพันธุ์กัญชง 86 ราย จำนวน 6,179,304 เมล็ด มูลค่า 926,895,600 บาท ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2564)

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย. พร้อมส่งเสริมกัญชงให้เป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน รวมทั้งพร้อมสนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อส่งออกนำรายได้เข้าประเทศต่อไป