จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมันและราคา LPG หรือก๊าซหุงต้มปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลพยายามตรึงราคาด้วยการใช้เงินกองทุนน้ำมันไปชดเชย ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันติดลบเกิน 8,700 ล้านบาท จนรัฐบาลต้องกู้เงินมากถึง 2-3 หมื่นล้านบาทมาจัดการหนี้สินที่เกิดขึ้นนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จึงได้จัดเวที ‘ราคาน้ำมันพุ่ง ก๊าซหุงต้มแพง วิกฤตมหากาพย์ผู้บริโภค’ เพื่อพูดคุยและสะท้อนปัญหาการจัดการราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG) โดยมีข้อเสนอสำคัญตอกย้ำไปยังรัฐบาล 2 ข้อ ดังนี้ หนึ่ง ยกเลิกการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันและ LPG ที่ผลิตในประเทศแต่ไปอิงราคาตลาดโลกซ้ำยังบวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้าซึ่งเป็นต้นทุนเทียม เสมือนว่ามีการนำเข้าจากต่างประเทศไปเสียทั้งหมด และสอง ปรับลดภาษีน้ำมันให้เป็นธรรมกับภาวะค่าครองชีพของประชาชนและราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกที่สูงขึ้น
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจึงเป็นปัจจัยหนุนทำให้สินค้าและบริการต่างๆ มีราคาแพงขึ้น ปัจจุบันราคาน้ำมันในประเทศอยู่ที่ลิตรละประมาณ 30-40 บาท ในส่วนดีเซลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของภาคขนส่ง แม้รัฐบาลจะมีนโยบายตรึงราคาให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ราคาก็ยังสูงกว่าราคาในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา อินโดนีเซีย เวียดนามราว 2 – 4 บาทต่อลิตร และแพงกว่าประเทศมาเลเซียถึง 13 บาทต่อลิตร ทำให้ต้นทุนของภาคขนส่งของประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้
รองเลขา สอบ.กล่าวถึงสาเหตุของน้ำมันแพงว่า มาจากการกำหนดโครงสร้างราคาของรัฐที่ให้อิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์แล้วยังให้บวกค่าขนส่งเสมือนนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ ทั้งที่จริงๆ แล้วประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปใช้ในประเทศได้พอเพียง จนปัจจุบันยังถึงขั้นเหลือพอส่งออกด้วย
เช่นเดียวกับกรณีก๊าซแอลพีจี รองเลขา สอบ. ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซแอลพีจีได้ถึงร้อยละ 91 และนำเข้าเพียงร้อยละ 9 ของปริมาณการจัดหาทั้งหมดของประเทศ แต่รัฐกลับกำหนดโครงสร้างราคาจากโรงกลั่นน้ำมันอิงราคาตลาดโลกและให้บวกค่าขนส่งเทียมเสมือนว่านำเข้ามาจากประเทศซาอุดิอาราเบียทั้งหมด ขณะที่แอลพีจีที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศซึ่งมีต้นทุนราคาต่ำที่สุดเพราะใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบประชาชนก็ไม่ได้มีโอกาสใช้เป็นลำดับแรก เพราะถูกกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ใช้ก่อนจนแทบหมด ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว เป็นการตั้งราคาที่กีดกันการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติสาธารณะ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนมากเกินไป และสร้างภาระให้ประชาชน
รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สอบ. กล่าวเสริมในเรื่องการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันมีการอ้างอิงจากราคาต่างประเทศว่า การคิดราคาแบบดังกล่าวเป็นการคิดราคาอ้างอิงในอดีตเพื่อจูงใจนักลงทุนในระยะเริ่มต้น เนื่องจากโรงกลั่นของไทยมีไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันได้ในปริมาณมากจนเหลือส่งออกไปขายต่างประเทศได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างราคาในลักษณะดังกล่าว
“นี่เป็นสิ่งที่เราเรียกร้องมาตลอดว่าไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เพราะการกลั่นน้ำมันในประเทศทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเราต้องรับมลภาวะเหล่านี้ เพื่อแลกกับการมีโรงกลั่นในประเทศ แต่กลับไม่เคยได้ใช้นำมันในราคาที่ผลิตในประเทศเลย” รสนา กล่าว
นอกจากโครงสร้างราคาเทียมเสมือนว่านำเข้าแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำมันแพงคือ การเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันของรัฐบาลในอัตราสูง โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา รัฐเก็บภาษีน้ำมันมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี แต่ไม่เห็นว่ารัฐนำภาษีน้ำมันที่เก็บได้ไปอุดหนุนหรือพัฒนาบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถสาธารณะแต่อย่างใด ในปัจจุบันเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีราคาสูง รัฐบาลไม่ยอมลดราคาภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงแต่กลับใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาพยุงราคาแทน ส่งผลให้ต้องกู้เงินเพิ่ม 2-3 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาใช้พยุงราคาน้ำมัน และอาจกลายเป็นการกู้เงินต่อเนื่องที่ไม่จบสิ้น
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา รสนา เสนอว่า คณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เคยส่งข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 แต่รัฐบาลยังแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด จึงขอย้ำข้อเสนอที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้และเป็นส่วนที่อยู่ในการดูแลของรัฐ คือ การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง โดยไม่ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันที่มีสถานะติดลบไปแล้วมาอุดหนุนราคาแต่อย่างใด และให้กำหนดราคาน้ำมันที่โรงกลั่นตามต้นทุนที่แท้จริงโดยต้องไม่มีค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายเทียมเสมือนว่ามีการนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าการนำเงินมาแจกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อ้างอิง
https://siamrath.co.th