ธปท.ย้ำตลอดทั้งปี65เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ 3%ต่อปี

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ธปท.ย้ำตลอดทั้งปี 65 เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 3%ต่อปี ยอมรับช่วงแรกเกินกรอบ จากราคาพลังงาน-อาหารสด จับตา 3เป้าประสงค์ “การขยายตัวเศรษฐกิจ-แรงกดดันเงินเฟ้อ-เสถียรภาพระบบการเงิน”

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%ต่อปีในการประชุมครั้งที่1/2565 โดยมองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางและแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังต้องติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานและผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นในภาวะที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยยอมรับว่าครัวเรือนที่รายได้น้อยค่อนข้างลำบาก ขณะที่การฟื้นตัวของลูกค้าภาคบริการ และอาชีพอิสระมีการฟื้นตัวไม่เท่ากันและอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดสำหรับภาคครัวเรือนยังมีภาระหนี้สูง

“กนง.ให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจแต่เฝ้าระวังพัฒนาการเงินเฟ้อและความเปราะบางธุรกิจและครัวเรือนเรื่องหนี้ ในหลักการ ธปท.ต้องชั่งน้ำหนักใน 3เป้าประสงค์ คือ 1. ดูการขยายตัวหรือฟื้นตัวของศรษฐกิจไม่ให้สะดุด 2.ด้านเงินเฟ้อต้องจับตาให้แน่ใจว่าแรงกดดันเงินเฟ้อไม่ขยายวงกว้างและฝังลึกในระบบเศรษฐกิจ และ 3.เรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน แม้นโยบายการเงินไม่สามารถดูและเชิงปริมาณ การผลิต แต่ดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบซึ่งตอนนี้มองว่าเงินเฟ้อมีขอบเขตจำกัด ขณะที่นโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นเน้นดูแลเฉพาะจุดเช่น มาตรการดูแลค่าครองชีพ เพราะยังมีความเปราะบางระดับครัวเรือนและธุรกิจและปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง โดยธปท.ให้ความสำคัญมิติย่อยในแง่ภาระหนี้สิน กลุ่มอายุไม่มาก และเกษตรกร ซึ่งเป็นเหตุผลที่ธปท.มีหลายมาตรการออกมาไม่ว่า ขยายเพดานหนี้ ,รวมหนี้ หรือปรับลดหนี้ และจับตาใกล้ชิดครัวเรือนไทยและSMEโดยยืนยันเครื่องมือที่มีอยู่พร้อมจะดูแล รวมถึงจับตาความแตกต่างของอาชีพและรายได้ ตลอดถึงตลาดแรงงาน”

มุมมองต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี2565 คณะกรรมการกนง.มองว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นและมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น โดยอาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปี 2565 แต่โดยรวมทั้งปียังต่ำกว่า 3% (ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ต่อปี) คือ มีโอกาสเงินเฟ้อจะเกินกรอบ 3%ซึ่งเป็นเรื่องปกติในครึ่งปีแรกจากปัจจัยเฉพาะ (ราคาพลังงานและอาหารสด)ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบระยะใกล้และปานกลาง ดังนั้นตลอดช่วงประมาณการอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายไม่เกิน 3% ต่อปีโดยคาดหวังว่าราคาพลังงาน อาหารสดจะลดลงครึ่งปีหลัง

“ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาสินค้าในบางรายการ แต่สินค้าบางประเภทปรับลดลงด้วยซ้ำ ซึ่งดูจากตะกร้าCPI ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นราคาเป็นวงกว้าง คือยังไม่เป็นปัญหาราคาปรับเพิ่มยกแผง แต่ราคาสินค้าบางประเทศปรับสูงขึ้นจริง หากเปรียบเทียบจำนวนสินค้าและบริการในไทยที่ราคาเพิ่มมากกว่าค่าเฉลี่ย 5ปีย้อนหลัง แต่ไม่ได้ปรับขึ้นมากถึงขั้นเป็นห่วงในภาพรวม ซึ่งต่างจากสหรัฐที่ราคาปรับสูงขึ้นถึง 35%”

 

ทั้งนี้ ปัจจัยราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มในเดือนธันวาคมปีที่แล้วส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหาร สินค้าที่ราคาปรับเพิ่ม 1.น้ำมันเชื้อเพลิง 24%ผัก 10% เครื่องปรุงอาหาร9% เนื้อสัตว์ 4% ยาสูบ3% ขณะเดียวกันมีสินค้าที่ปรับลดราคาลง เช่น ข้าว -9% ค่าเล่าเรียนอุดมศึกษา -7% ค่าเล่าเรียนมัธยม(สามัญ) -4% ค่าเล่าเรียนประถมศึกษา-3% ค่าเล่าเรียนมัธยมด้านเทคนิค อาชีวะ -2%

 

สำหรับราคาน้ำมันดูไบตอนนี้ที่ราคาในตลาดโลกขยับเพิ่มสูงกว่า 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรลนั้น ซึ่งเกิจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เพราะเกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องยูเครน์จากเดิมที่คลี่คลาย ซึ่งราคาน้ำมันดูไบที่เกินตัวเลขประมาณการของธปท.เดิมคาดไว้ที่ 85 ดอลลาร์ต่อบาเรลก่อนจะปรับลงมาอยู่ที่ 70ดอลลาร์ต่อบาเรลในไตรมาสแรก โดยช่วงที่เหลือของปีอาจทบทวนตัวเลขในการเสนอประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจรอบหน้า

 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกนง.มีมุมมองต่อเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจไทยลดลง เหตุแรงกดดดันจากโอมิครอนอยู่ในวงจำกัด โดยประมาณการจีดีพีปีนี้ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากนักในเชิงภาพเศรษฐกิจโดยรวม เดิมคาดไว้ที่ 3.9% จำนวนนักท่องเที่ยว 6ล้านคน

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market